วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรียนทันตแพทย์จบแล้วทำงานอะไร

 เรียนทันตแพทย์จบแล้วทำงานอะไร ?


                                         


       มาถึงการแนะนำอีกหนึ่งอาชีพสาขาแห่งอนาคตครับ ชาว Eduzones ทราบหรือไม่ว่าทันตแพทย์ เป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลปะครับ คนที่เรียนเก่ง แต่ไม่ชอบงานหัตถการ (เช่น งานปั้น งานออกแบบด้วยมือ) อาจจะไม่ชอบงานทันตกรรมสักเท่าใด ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ดี ก่อนตัดสินใจเลือกเรียนทันตแพทย์ครับ
 
        คณะทันตแพทย์ จัดเป็นสาขายอดฮิต อยู่ใน TOP 5 ของสายวิทย์ เพราะเป็นวิชาชีพที่ไม่ตกงาน  มีเกียรติ รายได้สูง เวลาทำงานแน่นอน และไม่มีเคสฉุกเฉินหรือถึงแก่ชีวิต เหมือนกับแพทย์
 
        และ "ผู้ที่ชอบงานฝีมือ แกะสลักเก่ง ถักเน็ตติ้งเก่ง วาดรูปเก่ง ฯลฯ และ มีคะแนนสูงพอที่จะสอบติดคณะทันตแพทย์ ขอบอกว่า ที่นี่ คือสวรรค์ สำหรับคุณ"
 
         การเรียน ในปีที่หนึ่ง และสอง ยังเป็น วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งจะเรียนรวมกับแพทย์ และ เภสัช
 
        ปีที่สาม และ สี่ จะเป็นวิชาพรีคลินิก (พื้นฐานก่อนลงคลินิก) และปีสามจะเริ่มลงคลินิกบ้างสัปดาห์ละสองสามวัน
 
        ปีที่สี่ ห้า หก เป็นปีที่ลงคลินิกเกือบเต็มเวลา จะมีเล็กเชอร์ในช่วงเช้า 1 ชั่วโมง และบ่าย 1 ชั่วโมง เวลาที่เหลือคือภาคปฏิบัติ
 
        จบแล้ว ต้องไปใช้ทุนสามปี ซึ่ง เงินเดือนขณะใช้ทุน รวมเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ จะตกประมาณสามหมื่นบาทต่อเดือน
 
        เมื่อใช้ทุนเสร็จ มีทางเลือกว่า จะรับราชการต่อ  ไปทำโรงพยาบาลเอกชน  เปิดคลินิกส่วนตัว หรือ ไปเป็นหมอประจำคลินิกเอกชน ก็ได้ ซึ่งรายได้จะมากกว่า รับราชการประมาณ 4 - 5 เท่า
 
        นอกจากนั้น บางคนก็ไปเรียนต่อเป็นทันตแพทย์เฉพาะทาง เช่น จัดฟัน  ฝังรากเทียม  รักษารากฟัน  ใส่ฟัน ฯลฯ
 
        ถ้าเรียนจบแล้ว ไม่อยากนั่งทำงานประจำที่คลินิก ทันตแพทย์ก็ยังมีงานด้านอื่นรองรับ เช่น 

งานด้านอื่นๆสำหรับทันตแพทย์
 
        - เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คณะแพทย์ ทันตแพทย์ 
        - เป็นนักวิชาการหรือนักวิจัย 
        - ทำงานในบริษัทที่เกี่ยวกับทันตสุขภาพเช่น ออรัลบี  คอลเกต  ลิสเตอรีน ฯลฯ
        - ทำงานเป็นผู้บริหาร ณ กระทรวงสาธารณสุข
        - หรือจะทำนอกสายอาชีพเช่น เป็นโค้ชฟุตบอล เป็นพิธีกร นักอ่านข่าว นักเขียน นักธุรกิจ นักแสดง ฯลฯ
 
         ทันตแพทยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเรื่องฟัน อวัยวะในช่องปาก และอวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยออกเสียงและส่งเสริมบุคลิกภาพอันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสมบูรณ์ของ ชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะมีความสามารถในการตรวจวินิจฉัย วางแผน และบำบัดรักษาโรคในช่องปากและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบูรณะเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ อีกทั้งมีความสามารถในการป้องกันโรคฟันผุแก่ชุมชน เผยแพร่ความรู้ทางทันตสุขศึกษา และทำการวิจัยทางด้านทันตแพทย ศาสตร์ คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา จะต้องเป็นผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ และมีคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการได้ นอกจากนี้ควรเป็นผู้มีฝีมือปั้นพอสมควร
 
แนวทางในการประกอบอาชีพ 
 
          ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จะมีความรู้ความสามารถในทางทันตกรรม และสามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้
 
          1.เป็น อาจารย์สอนและวิจัย เป็นทันตแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย รัฐวิสาหกิจ สภากาชาดไทย ฯลฯ
 
          2. ประกอบอาชีพสาขาทันตกรรมในคลินิกส่วนตัวและโรงพยาบาลเอกชน
 
รายชื่อคณะทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทย
 
 - สถาบันทันตแพทยศาสตร์ 
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 - คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น